การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล     

                                                                                                                                                       โดย ครูพยนต์

การทำผลงานทางวิชาการสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญและละเลยไม่ได้คือการหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมซึ่งได้นำเสนอไว้แล้ว 
อีกขั้นตอนหนึ่งคือการหาคุณภาพหรือตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูลก่อนนำไปใช้จริง
เนื่องจากมองว่า เป้าหมายสุดท้ายของการทำผลงานทางวิชาการคือการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ 
หากว่า เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลไม่มีคุณภาพ เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าผู้เรียนจะพัฒนาได้อย่างแท้จริง 
ฉะนั้น จึงไม่ควรมองว่าขั้นตอนเหล่านี้ว่า "เป็นไร" หรือ "ไม่ทำก็ได้" "อย่าไปทำเลย" หรือบางคนใช้คำพูดที่ไม่ค่อยน่าฟังเลยก็มี
ที่นำเสนอมิได้แปลว่าผู้เขียนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้แต่อย่างใด
แต่ถือเป็นบันทึกช่วยจำของผู้เขียนเองและอยากเผยแพร่ให้เพื่อนครูที่ชอบอ่านแบบบทสรุป

การหาคุณภาพของเครื่องมือ   คุณภาพบางด้านเมื่อสร้างเครื่องมือเสร็จก็สามารถตรวจสอบได้ทันที (เช่น ด้านความเป็นปรนัย)  บางด้านจะต้องนำเครื่องมือไปทดลองใช้หรือที่เรียกกันว่า Try out กับกลุ่มนักเรียนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างก่อน แล้วจึงนำผลมาวิเคราะห์หาค่าคุณภาพ   เครื่องมือบางชนิดจำเป็นต้องตรวจสอบคุณภาพทุกด้าน แต่บางชนิดสามารถตรวจสอบเพียงบางด้าน ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของชนิดเครื่องมือนั้น ๆ

                คุณภาพของเครื่องมือที่จำเป็นต้องตรวจสอบ มี 5 ด้าน ได้แก่

                1.  ความเที่ยงตรง (Validity)(หรือความตรง) เป็นคุณสมบัติของเครื่องมือที่วัดในสิ่งที่ต้องการวัด ความเที่ยงตรงแยกย่อยเป็น ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา(วัดเนื้อหาสาระ
ได้ครบถ้วนตามหลักสูตรและจุดประสงค์) และ ความเที่ยงตรงตามโครงสร้าง (วัดพฤติกรรมและสมรรถภาพด้านต่าง ๆ ได้ตรงตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดตามหลักทฤษฎี)

                2.  ความเชื่อมั่น (Reliability)(หรือความเที่ยง)เป็นคุณสมบัติของเครื่องมือที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือนั้น ๆ ให้ผลการวัดที่สม่ำเสมอ คงที่ แน่นอน ไม่ว่าจะวัดกี่ครั้งก็ตาม

                3.  ความเป็นปรนัย (Objectivity) เป็นคุณสมบัติของเครื่องมือที่มีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้คือ
                       
- คำถามมีความชัดเจน ชี้เฉพาะ อ่านแล้วเข้าใจตรงกัน
                        - การตรวจให้คะแนนมีความแน่นอน ตรงกันไม่ว่าใครจะตรวจก็ตาม
                       
- แปลความได้ชัดเจนว่า คะแนนที่ได้มีความสามารถอยู่ในระดับใด

                4.  ความยากง่าย (Difficulty เขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ p) เป็นคุณสมบัติของข้อสอบที่บอกว่าข้อสอบนั้นมีคนทำถูกมากน้อยเพียงใด เครื่องมือที่ดีต้องมีความยากง่ายพอเหมาะ

    5.  อำนาจจำแนก (Discrimination เขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ r) เป็นคุณสมบัติที่จำแนกกลุ่มเก่งกลุ่มอ่อนออกจากกัน หรือจำแนกความคิดเห็นที่ต่างกันออกเป็นสองกลุ่มได้

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลมีอยู่หลายชนิดในที่นี้ขอนำมาเจาะจงแบบที่เพื่อนครูเราใช้กันบ่อยได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์(ส่วนใหญ่เราจะนำมาใช้กันเป็นแบบทดสอบก่อนเรียน/หลังเรียน  และแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (แบบนี้เราจะใช้ตอนให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจ/ประเมินนวัตกรรม และ ใช้วัดเจตคติของนักเรียน)   เพื่อให้ทราบว่าเครื่องมือทั้งสองชนิดนี้ต้องตรวจสอบคุณภาพด้วยวิธีการใด   ส่วนวิธีการหานั้นหากจะหาด้วยการใช้สูตรก็สามารถทำได้  หรือให้สะดวก ก็สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีอยู่แพร่หลายในปัจจุบัน

แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์
            หมายถึงแบบทดสอบที่ใช้วัดความรู้ความสามารถของบุคคลทางวิชาการ ซึ่งเป็นผลจากการเรียนรู้ในเนื้อหาสาระและตามจุดประสงค์ของวิชาหรือเนื้อหานั้น ๆ 
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
            1.  แบบทดสอบแบบอิงเกณฑ์ สร้างขึ้นตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม  วัดตรงตามจุดประสงค์ มีคะแนนเกณฑ์ตัดสินว่าผู้สอบมีความรู้ตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่
           
2.  แบบทดสอบแบบอิงกลุ่ม  สร้างขึ้นตามตารางวิเคราะห์หลักสูตร สามารถจำแนกผู้สอบตามความเก่ง/อ่อนได้

หลักการสร้างจะไม่นำมากล่าวในที่นี้ จะกล่าวถึงขั้นตอนการหาคุณภาพ กล่าวคือ หลังจากเขียนและตรวจทานข้อสอบแล้วจะนำไปให้ ผู้เชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่า 3 คนพิจารณาความตรงเชิงเนื้อหา คือพิจารณาว่าข้อสอบแต่ละข้อตรงตามจุดประสงค์หรือไม่ อาจใช้วิธีการของ Rovinelli และ Hambleton  หรือวิธีการหา IOC(Index  of  Item – Objective  Congruence) ก็ได้  จากนั้นนำไปทดลองใช้กับกลุ่มทดลองก่อนแล้วนำมา

หาค่าความยากง่าย (p)  และหาอำนาจจำแนก (r)  ซึ่งอาจคำนวณด้วยการใช้สูตร หรือโปรแกรมสำเร็จรูปก็ได้

หาความเที่ยงตรง(หรือความตรง)
               
-  ความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา เรื่องนี้ถ้าหากว่าเราออกข้อสอบตามตารางวิเคราะห์เนื้อหาของเราก็ถือได้ว่ามีความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาแล้ว
                -  ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง มีวิธีหาอยู่หลายวิธี ได้แก่ ใช้การพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ระหว่างคะแนนของแบบทดสอบนั้นกับแบบทดสอบมาตรฐานที่วัดในเรื่องเดียวกันซึ่งมีผู้จัดทำไว้แล้ว อีกวิธีหนึ่งซึ่งสะดวกกว่า คือการให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ พิจารณา(ในบางตำราเรียก วิธี
"Face validity")

หาความเชื่อมั่น(หรือความเที่ยง)
               
การหาความเชื่อมั่นมีหลายวิธีการ(ซึ่งล้วนแล้วต้องใช้สูตรในการคำนวณทั้งสิ้น)เช่น  การสอบซ้ำ  การใช้แบบทดสอบคู่ขนาน  การแบ่งครึ่งแบบทดสอบ(ข้อคู่ข้อคี่)  และวิธีการที่นิยมกันคือแบบของ Kuder-Richardson

                นอกจากนี้ถ้าเป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกคือ แบบทดสอบนั้นต้องมีความยุติธรรม เด็กแต่ละคนต้องไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน  ใช้คำถามลึก วัดความสมรรถภาพทุกระดับ(รู้-จำ-เข้าใจ-นำไปใช้-วิเคราะห์-สังเคราะห์-ประเมินค่า) และคำถามยั่วยุ น่าสนใจ ท้าทายให้อยากตอบ

แบบสอบถาม มาตราส่วนประมาณค่า
       
    เครื่องมือชนิดนี้ไม่ต้องหาค่าความยากง่าย แต่ต้องหาค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ที่นิยมมีสองวิธี คือ หาโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์อย่างง่าย  และหาโดยใช้ t-test

            ความเที่ยงตรง
(หรือความตรง)  ความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาใช้วิธีการให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาตัดสินเป็นรายข้อ  ส่วนความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างจะใช้วิธีการเดียวกับแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ที่กล่าวไว้แล้ว

           
หาความเชื่อมั่น
(หรือความเที่ยง) วิธีที่แพร่หลายคือวิธีของ Cronbach(1970)  (เป็นวิธีการหาความเชื่อมั่นที่สามารถใช้กับเครื่องมือที่ไม่ได้ตรวจให้คะแนนเป็น 0 กับ 1)  เรียกว่า"สัมประสิทธิ์แอลฟา" - Coefficient)

                รายละเอียดในการหาแต่ละด้านเพื่อนครูสามารถศึกษาได้จากหนังสือวิจัยทั่วไป เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นบางทีต้องอ่านมากกว่า 1 เล่ม ซึ่งหากว่าทำได้ตามนี้ ก็เชื่อได้ว่า เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของเรามีความน่าเชื่อถือ  ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามผลงาน แล้วพบกันใหม่ครับ

 

                                                                                                                                                                               

เอกสารอ้างอิง

บุญชม   ศรีสะอาด.  การวิจัยเบื้องต้น.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2545.

พวงรัตน์   ทวีรัตน์.  วิธีการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์.  พิมพ์ครั้งที่ 7.  กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย,  2540.