"ช่วยจำ" เรื่อง ...การประเมินและการจัดการโครงการประเมิน  

 

การวิจัย กับ การวิจัยเชิงประเมิน

                การวิจัย หมายถึงกระบวนการรวบรวมข้อมูล หรือค้นหาความรู้ที่เป็นระบบ ด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ หรือวิธีการที่เป็นที่ยอมรับในศาสตร์นั้น ๆ

                การวิจัยเชิงประเมิน หมายถึงกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นระบบแล้วตัดสินคุณค่าของข้อมูลนั้นโดยเทียบกับเกณฑ์

                ความแตกต่างกันได้แก่ การวิจัยมีจุดเริ่มต้นมาจากความอยากรู้ หรือเรื่องที่ผู้วิจัยสนใจ มุ่งสร้างองค์ความรู้
ใหม่ ๆ(วิจัยบริสุทธิ์)  และมุ่งนำผลไปแก้ปัญหา(วิจัยประยุกต์)โดยเน้นระเบียบวิธีวิจัย  พาดพิงได้กว้างขวาง(สามารถสรุปไปยังประชากรอื่นๆ) มุ่งสรุปเกี่ยวกับตัวแปร   ส่วนการวิจัยเชิงประเมิน มีจุดเริ่มมาจากความต้องการใช้ข้อมูลของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อต้องการนำข้อมูลมาตัดสินใจ  ในกระบวนการไม่เน้นระเบียบวิธีเท่าการวิจัย  ลักษณะที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือในการวิจัยเชิงประเมินต้องระบุตัวบ่งชี้(หรือตัวชี้วัด หรือประเด็นการประเมิน) และเกณฑ์ในการตัดสินข้อมูล
ผลที่ได้จากการวิจัยมีความเฉพาะเจาะจงสูง(สรุปเฉพาะเรื่องที่ประเมิน)

เป้าของการประเมิน กับจุดมุ่งหมายของการประเมิน

                เป้าของการประเมิน หมายถึง สิ่งที่เราจะประเมินอาจเป็น  วัสดุ  อุปกรณ์  ทรัพยากร  กิจกรรม โครงการ  แผน  แผนงาน  หลักสูตร  บุคคล  หน่วยงานหรือองค์กร  รวมถึงสังคม

                จุดมุ่งหมายของการประเมิน หมายถึง สิ่งที่ผู้วิจัยต้องการคำตอบในการประเมินครั้งนั้นซึ่งเป็นได้ทั้งวัตถุประสงค์(สิ่งที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้น, ต้องทำให้ปรากฏ)  หรือเป้าหมายของการประเมิน(จุดหมายปลายทางของการดำเนินงาน)

การประเมินความต้องการจำเป็น การสำรวจความต้องการ

การประเมินความต้องการจำเป็นหมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจัยพื้นฐานจากสิ่งที่ประเมินแล้วนำมาตัดสินคุณค่าโดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น แล้วประมวลเป็นรายการความต้องการจำเป็นเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไข หรือควรได้รับการพัฒนาเป็นอันดับแรกๆ

การสำรวจความต้องการ หมายถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับความต้องการ โดยไม่นำมาตัดสินคุณค่าใด ๆ

การประเมินทางการศึกษา กับ การประเมินหลักสูตร

                การประเมินทางการศึกษา หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินคุณค่าทางเลือกต่าง ๆ ในการจัดการศึกษา การเก็บรวบรวมข้อมูลในทางการศึกษามักเป็นการวัดทางอ้อมหรือวัดในทางจิตวิทยามักมีความคลาดเคลื่อนสูง

                การประเมินหลักสูตร หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินคุณค่าว่าหลักสูตรเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

การตัดสินใจภายใต้ภาวะแน่นอน การตัดสินใจภายใต้ภาวะเสี่ยง

                การตัดสินใจภายใต้ภาวะแน่นอน หมายถึง การตัดสินใจโดยมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่แน่นอน ชัดเจน สามารถพยากรณ์ผลที่เกิดได้สมบูรณ์ หรือค่อนข้างสมบูรณ์

                การตัดสินใจภายใต้ภาวะเสี่ยง หมายถึง การตัดสินใจโดยมีข้อมูลเพียงบางส่วน ผลจากการตัดสินใจทราบเพียงโอกาสความน่าจะเป็นเท่านั้น

แบบจำลองซิป(CIPP Model) กับ แบบจำลองของไทเลอร์

                แบบจำลองซิป เป็นรูปแบบการจำลองการประเมินเพื่อให้ได้ข้อมูล 4 ด้านคือ ภาวะแวดล้อมหรือบริบท(Context)  ปัจจัยป้อน(Input)  กระบวนการ(Process) และผลผลิต(Product)  เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นเพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ

                แบบจำลองของไทเลอร์  เป็นรูปแบบการประเมินที่เปรียบเทียบพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เป็นการประเมินที่เน้นที่จุดมุ่งหมาย

ประเภทการประเมิน

                การประเมินมีหลายประเภท สามารถจำแนกได้ตามเกณฑ์ต่างๆ  ดังนี้

                1.  ประเภทการประเมินที่ยึดจุดมุ่งหมายหรือการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ

                                1.1  การประเมินความก้าวหน้า หรือการประเมินเพื่อปรับปรุง

                                1.2  การประเมินรวมสรุป หรือการประเมินสรุปผล

                2.  ประเภทการประเมินที่ยึดลำดับเวลาการประเมิน

                                2.1  การประเมินก่อนดำเนินงาน

                                2.2  การประเมินระหว่างดำเนินงาน

                                2.3  การประเมินหลังการดำเนินงาน

                3.  ประเภทการประเมินที่ยึดวัตถุประสงค์

                                3.1  การประเมินที่ยึดวัตถุประสงค์

                                3.2  การประเมินที่ไม่ยึดวัตถุประสงค์

                4.  ประเภทการประเมินที่ยึดเกณฑ์ในการประเมิน

                                4.1  การประเมินแบบอิงเกณฑ์

                                4.2  การประเมินแบบอิงกลุ่ม

กระบวนการประเมิน

                1)  วิเคราะห์เป้าหรือสิ่งที่มุ่งประเมิน

                2)   ระบุหลักการและเหตุผลในการประเมิน

                3)  กำหนดวัตถุประสงค์การประเมิน

                4)  กำหนดขอบเขตของการประเมิน
                     ในเรื่อง แหล่งข้อมูล(เป้า)/ประเด็นการประเมิน/ช่วงเวลา

                5)  ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

                6) ออกแบบการประเมิน

                7)  สร้างและพัฒนาเครื่องมือการประเมิน

                8)  เก็บรวบรวมข้อมูล

                9)  วิเคราะห์ข้อมูล

                10)  สรุปและเขียนรายงาน

การออกแบบประเมินจะวางแผนครอบคลุมในเรื่อง
         
1)  กลุ่มตัวอย่าง ระบุจำนวน วิธีการสุ่ม เน้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด
          2)  เครื่องมือ
เลือกใช้เครื่องมือให้สอดคล้องกับประเด็นการประเมิน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้จะต้อง มีความตรง(วัดได้ในสิ่งที่ต้องการวัด)  ความเที่ยง(ความคงที่ของการวัด)  มีความยากง่ายเหมาะสม  มีอำนาจจำแนก(จำแนกคนรู้และไม่รู้) มีความเป็นปรนัย(คำถามชัดเจน ใครตรวจก็ได้คะแนนเหมือนกัน) และความสามารถในการนำไปใช้(ง่าย สะดวก)
          3)  การวิเคราะห์ข้อมูล จะใช้สถิติใด วิเคราะห์อย่างไรโดยพิจารณาให้สอดคล้องกับ
               - วัตถุประสงค์
ถ้าต้องการบรรยายลักษณะข้อมูลก็ใช้สถิติบรรยาย ถ้าต้องการเปรียบเทียบ
ความแตกต่าง,ความสัมพันธ์ก็ใช้สถิติอ้างอิง
               - ระดับของข้อมูล
(นามบัญญัติ, จัดอันดับ, อันตรภาค, อัตราส่วน ใช้สถิติตามข้อตกลงเบื้องต้นของสถิตินั้น)
               - เกณฑ์ที่ใช้

ซึ่งนักประเมินจะจัดทำลงในตารางดังนี้

วัตถุประสงค์ของการประเมิน

ตัวบ่งชี้/
ตัวแปร/ประเด็นที่ศึกษา

แหล่งข้อมูล

เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูล

เกณฑ์ในการตัดสิน

 

 

 

 

 

 

 “มาตรฐาน”  “ตัวบ่งชี้” “เกณฑ์ในการประเมิน”

                - มาตรฐาน เป็นระดับของการปฏิบัติการที่แสดงถึงความสำเร็จอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

                - ตัวบ่งชี้  เป็นตัวแปร หรือตัวประกอบ หรือสิ่งที่บอกสภาพ สภาวะการณ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพของสถานการณ์นั้น ๆ

                - เกณฑ์  เป็นระดับของความสำเร็จของการดำเนินงานหรือผลที่ได้รับ หรือ สิ่งที่เราใช้ตัดสินคุณภาพของผลลัพธ์ที่แสดงออกในรูปพฤติกรรมที่ยอมรับได้

แนวปฏิบัติในการสร้างเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล

                1) กำหนดสิ่งที่ต้องการวัด ต้องการวัดสิ่งใด เลือกเครื่องมือให้สอดคล้อง
                2) นิยามสิ่งที่ต้องการวัด
ในด้านความหมาย โครงสร้าง ขอบเขต
                3) เลือกชนิดของเครื่องมือ
เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการครบถ้วน
                4) สร้างเครื่องมือตามเทคนิควิธีสร้างเครื่องมือแต่ละชนิด
                5) ทบทวน ดูข้อบกพร่อง
                6) ตรวจสอบคุณภาพ
ในขั้นตอนนี้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อหาค่าความตรง(IOC)
               
7) ทดลองใช้/ปรับปรุง นำไปทดลองใช้กับกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มทดลองเพื่อค่าความเที่ยง (และค่าความยาก,อำนาจจำแนกสำหรับแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์) ถ้าพบข้อบกพร่องต้องปรับปรุงและทดลองใหม่
                8) จัดทำฉบับจริง   ถ้าเป็นเครื่องมือที่พัฒนาได้ตามเกณฑ์มาตรฐานควรจัดทำคู่มือการใช้ ถ้าเป็นเครื่องมือ
ที่ผู้ประเมินสร้างเพื่อใช้เองก็ไม่จำเป็นต้องจัดทำคู่มือ

ตัวอย่างวิธีการทางสถิติในการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ในงานวิจัยเชิงประเมิน

                ในงานวิจัยเชิงประเมินไม่เน้นสถิติที่ซับซ้อนมากเท่างานวิจัยทั่วไป เนื่องจากมุ่งหาข้อมูลเพื่อติดสินใจเท่านั้น 
                - ถ้าต้องการบรรยายคุณสมบัติของข้อมูล ใช้ สถิติบรรยาย เช่น การแจกแจงความถี่ ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ฯลฯ
                - ถ้าต้องการนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
                - ถ้าต้องการทดสอบความแตกต่าง ใช้
z-test  t-test ไคสแควร์  ANOVA
               
- ถ้าต้องการทดสอบความสัมพันธ์ ใช้ ไคสแควร์ สหสัมพันธ์เพียร์สัน

สถิติที่นำเสนอเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น  ทั้งนี้ก่อนการใช้สถิติทุกครั้งต้องศึกษาข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติแต่ละ
ประเภทก่อนเสมอ

-2512500022