ช่วยจำ เทคนิคการวิจัยแบบเดลฟาย

        เป็นเทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยอาศัยข้อคิดเห็นที่สอดคล้องกันของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคต โดยอาศัยวิธีการสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนได้รับข่าวสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันโดยไม่มีการเผชิญหน้าโดยตรง

        คุณลักษณะของเทคนิคเดลฟาย
        1) เทคนิคเดลฟายเป็นเทคนิคที่มุ่งแสวงหาข้อมูลจากความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยการตอบแบบสอบถาม   
        2) เป็นเทคนิคที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนที่ร่วมในการวิจัยจะไม่ทราบว่าใครเป็นใครบ้าง เป็นการขจัดอิทธิพลของกลุ่มที่ส่งผลต่อความคิดเห็นของตน
        3) เทคนิคนี้ได้ข้อมูลมาจากแบบสอบถาม หรือรูปแบบอย่างอื่น โดยผู้เชี่ยวชาญจะต้องตอบแบบสอบถามครบทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ความเห็นที่ถูกต้อง เชื่อถือได้จึงต้องมีการใช้แบบสอบถามหลาย ๆ รอบ โดยทั่ว ไปแบบสอบถามในรอบที่ 1 มักเป็นแบบสอบถามแบบปลายเปิดและในรอบต่อ ๆ ไป จะเป็นแบบสอบถามปลายปิด แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)
        4) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้กลั่นกรองและให้คำตอบได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันยิ่งขึ้น ผู้ทำวิจัยจะแสดงความคิดเห็นที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นสอดคล้องกันในคำตอบในครั้งก่อนแสดงในรูปสถิติ คือ ค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ แล้วส่งกลับให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนพิจารณาว่าจะคงคำตอบเดิมหรือเปลี่ยนแปลงใหม่
        5) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์จะเป็นสถิติเบื้องต้น คือ การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง ได้แก่ ฐานนิยม (Mode) มัธยฐาน (Median)
ค่าเฉลี่ย (Mean) และการวัดการกระจาย ของข้อมูล คือ ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ (Interquartile Range)

        ประเภทและลักษณะของปัญหาที่จะใช้เทคนิคเดลฟาย
        เวเทอร์แมน และสเวนสัน (Weatherman and Swenson 1974: 109 อ้างถึงใน ประยูร ศรีประสาธน์ 2550: 56) ได้สรุปประเภทของการวิจัยที่อาจใช้เทคนิคเดลฟายไว้ ดังนี้
        1) การวิจัยเพื่อจะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
        2) การตรวจสอบกลวิธีในการปฏิบัติ (strategy probe) เพื่อให้มีทางเลือกหลาย ๆ ทาง จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงเหตุผลในการตอบ
        3) การตรวจสอบความนิยม (preference probe) ในกรณีนี้ผู้วิจัยจะต้องพยายามตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตอบในสิ่งที่เห็นว่าควรจะเป็นมากกว่าสิ่งที่จะเป็นจริง ๆ
        4) การยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ (perceptions of a current situation) การศึกษาประเภทนี้ ได้แก่ การศึกษาบทบาทที่แตกต่างกันของคนอาชีพหนึ่งในทัศนะของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ
        ใจทิพย์ เชื้อรัตน์พงษ์ (2552: ไม่มีเลขหน้า) ได้สรุปว่า
        1) ปัญหาที่จะทำการวิจัยไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน แต่สามารถวิจัยปัญหาได้จากการรวบรวมการตัดสินแบบอัตตวิสัย(Subjective Judgments) จากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ
        2) ปัญหาที่จะทำการวิจัยต้องการความคิดเห็นหลาย ๆ ด้านจากประสบการณ์หรือความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ
        3) ผู้ทำการวิจัยไม่ต้องการให้ความคิดเห็นของผู้อื่นแต่ละคนมีผลกระทบ หรือมีอิทธิพลต่อการพิจารณาตัดสินปัญหานั้น ๆ

        กระบวนการในการใช้เทคนิคเดลฟาย (กาญจนา วัธนสุนทร 2551: 163)
        ขั้นที่หนึ่ง ขั้นนี้เป็นขั้นการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามปลายเปิด โดยผู้วิจัยเป็นผู้กำหนดหรือระบุคำถามในลักษณะกว้าง ๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตอบตามความคิดเห็นโดยอิสระและปราศจากอคติใด ๆ
        ขั้นที่สอง เป็นขั้นพัฒนาแบบสอบถาม วิเคราะห์และสังเคราะห์ผลการตอบที่ได้จากขั้นที่หนึ่ง แล้วนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นต่อข้อความที่สร้างขึ้น โดยใช้มาตรประมาณค่า (rating scale) นิยมใช้มาตร 5 ระดับ
        ขั้นที่สาม นำคำตอบที่ได้จากการตอบแบบสอบถามของผู้เชี่ยวชาญในรอบที่สองมาวิเคราะห์ค่ามัยธยฐาน หรือฐานนิยม และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ ของข้อมูลจากการตอบ จากนั้นจึงจัดส่งแบบสอบถามกลับไปให้ผู้เชี่ยวชาญตอบเป็นรอบที่สาม โดยแสดงคำตอบจากรอบที่สองของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านพร้อมทั้ง ค่ามัธยฐานและค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ของคำถามแต่ละข้อ ที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลรอบที่สอง ... ในการตอบแบบสอบถามรอบที่สามนี้ ผู้เชี่ยวชาญอาจเปลี่ยนความคิดเห็นให้สอดคล้องกับกลุ่มหรืออาจยืนยันคำตอบเหมือนรอบที่สอง หากผู้เชี่ยวชาญยืนยันคำตอบเดิมเหมือนในรอบที่สองซึ่งเป็นคำตอบที่แตกต่างจากกลุ่มต้องให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งนั้นไว้ด้วย ในการใช้เทคนิคเดลฟายเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น ถ้าผู้ประเมินเห็นว่ายังมีความ ไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญ อาจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในจำนวนรอบที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้เชี่ยวชาญในการที่จะให้ข้อมูลหลาย ๆ รอบด้วย

        ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพของเทคนิคเดลฟาย
        - ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมโครงการนั้น มีความรอบรู้ในเรื่องนั้นอย่างแท้จริงหรือไม่ และมีจำนวนมากพอที่จะใช้เป็นผู้แทนของผู้รู้ในเรื่องนั้นหรือไม่
        - จำนวนผู้เชี่ยวชาญ แม้จะไม่มีกำหนดตายตัวว่าควรจะใช้จำนวนเท่าใด แต่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูงและมีความคลาดเคลื่อนน้อย ต้องใช้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจำนวนตั้งแต่ 17 คนขึ้นไป
        - การอุทิศตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม หากผู้ตอบแบบสอบถามเห็นความสำคัญ และอุทิศตัวต่อการตอบอย่างแท้จริงแล้ว ข้อมูลที่ได้รับก็จะน่าเชื่อถือ
        - เกี่ยวกับแบบสอบถาม ข้อความในแบบสอบถามจะต้องชัดเจนและผู้ตอบแต่ละคนจะต้องเข้าใจตรงกันในคำถามหรือข้อความเดียวกัน
        - การเว้นระยะเวลาตอบในแต่ละรอบ จากการวิจัยของวัลโดรน (Waldrone) (ประยูร ศรีประสาธน์ 2550: 54) พบว่า การส่งแบบสอบถามในรอบที่ 2, 3 ในเวลาที่แตกต่างกัน จะมีผลกระทบทำให้เกิดความแตกต่างกันในคำตอบที่จะได้รับ การเว้นระยะแต่ละรอบนานเกินไปจะมีผลทำให้ผู้ตอบลืมหรือยากที่จะนึกถึงเหตุผลในการเลือกตอบแบบสอบถามในครั้งก่อน
        - ด้านตัวผู้วิจัยหรือผู้ออกแบบสอบถาม ต้องเป็นผู้ที่รู้ความต้องการของตนในการวิจัยอย่างละเอียด มีความสามารถในการที่จะแสดงความต้องการวิจัยของตนออกมาด้วยการออกแบบสอบถามที่แน่นอนชัดเจน ต้องให้ความสำคัญในคำตอบที่ได้รับอย่างเสมอกันทุกข้อ ไม่ว่าผู้ตอบแต่ละคนจะตอบครบทุกข้อหรือไม่ก็ตาม