เล่าสู่กัน(3)
หน้านี้จะพูดถึง การเขียนรายงานการพัฒนานวัตกรรม หรือ รายงานการใช้นวัตกรรม ตามแต่จะเรียกกัน แต่ก็คงไม่ลงลึกถึงรายละเอียด เพราะคงจะเล่ากันแบบละเอียดจริง ๆ ไม่ได้ เพื่อนครูสามารถหาอ่านแบบละเอียดจากเอกสารทางวิชาการ หรือ ผลงานทางวิชาการที่มีผู้จัดทำไว้แล้วจะดีกว่า จะขอเล่าภาพรวมกว้าง ๆ ที่เคยเจอ อีกอย่าง อยากบอกว่า เล่าสู่กันจากประสบการณ์ที่ได้อ่าน ได้ฟัง ได้ทำมาเท่านั้น รูปแบบต่าง ๆ ที่เจอแต่ละสำนักก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เราชอบใจแบบไหนก็ใช้แบบนั้น
การเขียนรายงาน คือการเขียนบรรยายสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด ตั้งแต่ เริ่มต้นจนถึงผลการใช้สื่อ/นวัตกรรม โดยนำรูปแบบการเขียนรายงานการวิจัยมาเป็นแนวทาง ซึ่งสามารถเขียนได้ทั้ง 4 บท หรือ 5 บท(ส่วนใหญ่เราจะเห็นกัน 5 บท) ในการใช้ชื่อ ผู้เขียนมีเหตุผลอย่างหนึ่งที่ไม่อยากใช้คำว่ารายงานการวิจัย เนื่องจาก รายงานการวิจัย มีรูปแบบ(ทางวิชาการ)ที่เราต้องระมัดระวัง ต้องใช้รูปแบบ,คำพูดให้ถูกต้อง ถ้ารู้ไม่จริงอาจผิดพลาดได้ แต่หากว่าเรามั่นใจ หรือผ่านการเรียนรู้ในเรื่องนี้มาอย่างชัดเจนก็ไม่เป็นปัญหา
ส่วนประกอบของรายงาน(ตามลำดับ)
ปกนอก(หน้าปก)
คือปกแข็งด้านนอกสุด ชื่อเรื่องถ้ายาวเกิน 1 บรรทัด นิยมเขียนให้เป็นรูปจั่วกลับ
รองปก
กระดาษเปล่า ๆ ที่รองทั้งปกหน้าและปกหลัง
ปกใน
เหมือนปกนอกแต่ใช้กระดาษสีขาวธรรมดา
บทคัดย่อ(ถ้ามี คือไม่มีก็ได้)
คำนิยม(ถ้ามี)
คำนำ
เหตุผลที่จัดทำ รายงานกล่าวถึงอะไรบ้าง ทำมาอย่างไร ทำแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร
ประกาศคุณูปการ(ถ้ามี)
สารบัญ
ส่วนนี้มักจะต้องทำหลังจากส่วนอื่น ๆ
เสร็จ และกำหนดหน้าเรียบร้อยแล้ว
สารบัญตาราง
บางที่เรียกบัญชีตาราง
ไล่ไปตามลำดับ(ไม่แยกบท) ถ้ามีตารางไม่มาก ไม่จัดให้มีก็ได้
สารบัญภาพประกอบ(ถ้ามี)
บทที่ 1
บทนี้กล่าวถึง บทนำ ภูมิหลัง
ความเป็นมา(เรียกต่าง ๆ กัน) ที่ต้องมีก็คือ ปัญหา วัตถุประสงค์
บทที่ 2
บทนี้นำเสนอข้อมูลจากแหล่งความรู้ที่เรานำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน
ซึ่งจะต้องเรียบเรียงคำพูดของเราเชื่อมโยงไปยังข้อมูล
เอกสารที่เรานำมาอ้างอิงโดยวิธีการที่นิยมกันขณะนี้คือการแทรกในเนื้อหา
บทนี้ต้องใช้ศิลปะในการนำเสนอพอสมควร
บทที่ 3
บทนี้กล่าวถึงกระบวนการ ขั้นตอนการสร้าง/พัฒนา
ตั้งแต่เริ่มลงมือทำ-ทดลองใช้-พัฒนา-หาประสิทธิภาพ-ทดลองใช้-ไปจนถึงการใช้จริง
กับใคร ที่ไหน เมื่อไร
ผลเป็นอย่างไร ใช้สถิติอะไร
บทที่ 4
กล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นจากบทที่ 3 ส่วนใหญ่นำเสนอในรูปข้อมูล
บทที่ 5
บทสรุปจากบทที่ 1 - 4
และมีการอภิปรายผลจากการใช้หรือพัฒนา รวมทั้งข้อเสนอแนะ
(ถ้าจัดทำ 4 บท จะรวมบทที่ 3 - 4 เข้าด้วยกัน....แต่บางตำราบอกว่า
รวม บทที่ 1-2 หรือ 4-5 เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ให้ดูปริมาณของเนื้อหา)
ใบบอกหน้า(หรือหน้าบอกตอน)
เป็นกระดาษสีอื่น
พิมพ์ที่กึ่งกลางจากทุกด้านด้วยตัวหนาว่า
บรรณานุกรม
บรรณานุกรม
ศึกษารูปแบบการเขียนให้ดี เขียนให้เป็นแนวเดียวทั้งเล่ม
ใบบอกหน้า(หรือหน้าบอกตอน)
เป็นกระดาษสีอื่น
พิมพ์ที่กึ่งกลางจากทุกด้านด้วยตัวหนาว่า ภาคผนวก ก ข ค....
ภาคผนวก
ก ข ค...เช่น คำแนะนำเพิ่มเติม ข้อมูลต่าง ๆ
ที่เราเห็นว่าสำคัญแต่ไม่ได้นำเสนอไว้ในบทที่ 1- 5 ไม่ควรมากมายนักเอาเฉพาะที่สำคัญ
และภาคผนวกสุดท้ายที่ควรมีคือ ประวัติของผู้เขียน หรือ คณะทำงาน(ถ้าทำกันหลายคน)
เพื่อคนอ่านจะได้รู้ว่า เราเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีภูมิรู้ขนาดไหน
ทุกภาคผนวกก็ควรมีใบบอกหน้า
รองปก
ปกนอก(ปกหลัง)
การเขียนรายงานให้ได้ดีต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์
กล่าวคือต้องเขียนให้คนอ่านแล้วสามารถมองเห็นภาพขั้นการในการดำเนินงานจริง ๆ
มีวิธีการใช้ภาษา
(ที่เป็นวิชาการ)ของเราเอง หล่อหลอมกับข้อมูลต่าง ๆ อย่างสละสลวย
ฟังดูแล้วต่อเนื่อง ไม่สับสน วกวน
ความสามารถเหล่านี้จะได้มาจากการอ่านแบบสะสม จึงควรอ่านหนังสือมาก ๆ
โดยเฉพาะประเภทผลงานทางวิชาการที่มีผู้จัดทำไว้แล้วและมีคุณภาพ
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ รูปแบบการพิมพ์
ควรหาหนังสือเกี่ยวกับคู่มือการเขียนรายงานไว้สักเล่มสองเล่ม
หรือหาทางเข้ารับการอบรมกับหน่วยงาน หรือคณะบุคคลที่เชื่อถือได้
ยังมีเทคนิควิธีการที่จะเล่าสู่กันในโอกาสต่อไป อย่างที่บอกไว้ตอนต้น เรื่องเล่านี้ เล่าจากประสบการณ์ อาจมีข้อบกพร่อง ตกหล่น หากผู้อ่านท่านใดมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ
หน้าที่ 2 ::: หน้าที่ 3 ::: หน้าที่ 4 ::: หน้า 5