เล่าสู่กัน (4)
หน้านี้จะลงลึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยของรายงาน เฉพาะส่วนที่สำคัญที่เราควรรู้นะครับ
การพิมพ์ การตั้งค่าหน้ากระดาษ
การตั้งค่าหน้ากระดาษ
มีผู้เสนอแนะไว้ใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่จะใช้ขนาดกระดาษ A4
เว้นขอบด้านบน, ด้านซ้าย 1.5 นิ้ว
ด้านขวา, ด้านล่าง เว้นไว้ 1 นิ้ว หากคอมพิวเตอร์เรากำหนดเป็นเซนติเมตร
ก็ไปกำหนดเป็นนิ้วเสีย(เครื่องมือ-ตัวเลือก-ทั่วไป)
โดยสรุปก็คือส่วนบนและซ้ายมือจะเว้นไว้มากกว่าส่วนล่างและขวามือ
การพิมพ์ หลายท่านคงเห็นคุณสมบัติของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วว่าสามารถตัดคำให้อัตโนมัติ แต่ก็ยังไม่มีความสามารถจำแนก แยกคำในภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์ จึงควรระวังการฉีกคำ ก่อนการพิมพ์ให้จัดชิดซ้ายไว้ก่อน เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการพิมพ์(ได้มาจาก การสร้างเอกสารงานพิมพ์อย่างมีคุณภาพ ในวารสารการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดย บุญเลิศ อรุณพิบูลย์) ที่น่าสนใจมีดังนี้
- เครื่องหมายวงเล็บ, เครื่องหมายคำพูด ควรเว้น 1 ครั้ง(เคาะ)ก่อนเปิดเครื่องหมาย
และเว้น 1 ครั้งหลังปิดเครื่องหมาย ข้อความข้างในอยู่ติดกับเครื่องหมาย
- ไม้ยมก, ไปยาลน้อย, จุด,
จุดลูกน้ำ, จุดคู่, จุดครึ่ง (;), ควรติดกับข้อความ
หลังเครื่องหมายเว้น 1 ครั้ง
ควรวางแผนการพิมพ์โดยแยกไฟล์งานในแต่ละส่วนหรือแต่ละบท กรณีที่เราจะไม่แสดงหมายเลขหน้าที่หน้าแรกของบท และเพื่อสะดวกในการทบทวนงาน
ประชากร กลุ่มตัวอย่าง สัมพันธ์กับสถิติที่ใช้อย่างไร
แม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้รูปแบบรายงานตามรายงานการวิจัยเต็มรูปแบบก็ตาม แต่ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นสิ่งที่เราต้องกล่าวถึง จากที่ทราบแล้วว่า ประชากร หมายถึงกลุ่มสิ่งมีชีวิต(บางที่ก็รวมสิ่งที่ไม่มีชีวิตด้วย)ที่เราต้องการจะนำมาศึกษา ส่วนกลุ่มตัวอย่างจะหมายถึงบางส่วนของประชากรเท่านั้นซึ่งการสุ่มกลุ่มตัวอย่างมีเทคนิค/วิธีการตามหลักวิชาอยู่แล้วจะไม่ขอนำมาเล่าในที่นี้ แต่ในกรณีโรงเรียนขนาดเล็กเราสามารถใช้ประชากรทั้งหมดมาเป็นกลุ่มตัวอย่างได้เลย ตัวอย่างเช่น
- ชั้น ป.6 มี 1 ห้องเรียน(ประชากร) ใช้นักเรียนชั้น ป.6 ทั้งชั้นเป็นกลุ่มตัวอย่าง และอีกกรณี
- ชั้น ป.6 มี 3 ห้องเรียน(ประชากร) สุ่ม(ตามวิธีการ)มา 1
ห้องเรียน(หรือ...คน) เป็นกลุ่มตัวอย่าง ที่สามารถอ้างอิงไปถึงประชากรชั้น ป.6 ทั้ง
3 ห้องเรียน
ที่กล่าวถึงนี้เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งจะเล่าต่อไป
ข้อมูลต่าง ๆ
ที่เราเก็บรวบรวมได้ในระหว่างดำเนินงานจนจบการดำเนินงานจะต้องนำมาวิเคราะห์ตามวิธีการทางสถิติ
จุดนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่จะบ่งบอกว่า รายงานของเราใช้สถิติที่เหมาะสมหรือไม่
ก่อนอื่นต้องศึกษาข้อตกลงเบื้องต้น, เงื่อนไข, ข้อกำหนดการใช้สถิติแต่ละตัวกันก่อน
สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล มี 2 ประเภทคือ
1. สถิติบรรยาย
(บางที่เรียกสถิติพรรณนา) ใช้อธิบายข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ โดย
- ถ้าอธิบายลักษณะตัวแปรเชิงปริมาณ ใช้ ค่าเฉลี่ย-มัธยฐาน-ฐานนิยม-เปอร์เซนต์ไทม์-เดไซม์-ควอไทม์-พิสัย-ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
-ถ้าอธิบายลักษณะตัวแปรเชิงคุณภาพ ใช้ ร้อยละ-ฐานนิยม
-ถ้าอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเชิงปริมาณ ใช้ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เชิงเส้น
ส่วนตัวแปรเชิงคุณภาพ ใช้การสร้างตารางไขว้
2. สถิติอ้างอิง
ใช้เพื่อนำผลการวิเคราะห์ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างเพื่ออ้างอิงไปถึงประชากร มี 2
ประเภทคือ
2.1 สถิติมีพารามิเตอร์ เช่น t-test, Z-test, ANOVA, Regression
ฯลฯ มีข้อตกลงเบื้องต้นในการใช้ 3 ประการ คือ
ข้อมูลต้องอยู่ในระดับอันตรภาคขึ้นไป
ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างต้องมีการแจกแจงแบบโค้งปกติ
และกลุ่มประชากรที่นำมาศึกษาต้องมีความแปรปรวนเท่ากัน
2.2 สถิติไร้พารามิเตอร์ เช่น ไคสแควร์, Medium Test, Sign Test
ฯลฯ ข้อตกลงเบื้องต้นคือ ข้อมูลไม่เป็นไปตาม 2.1
ดูภาพความสัมพันธ์ระหว่างประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ดูอีกภาพหนึ่ง(ดร.ไพจิตร
สดวกการ กรุณาส่งมาให้)
จะเห็นได้ว่าหากเราใช้ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่างก็ควรจะใช้เพียงแค่สถิติบรรยายก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้สถิติอ้างอิงเพื่อการทดสอบสมมติฐาน แต่หากเราใช้กลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสุ่ม(ตามวิธีการ)มาจากประชากรก็ควรใช้ถึงสถิติอ้างอิง (ส่วนการจะเลือกใช้สถิติตัวใด ก็ควรศึกษารูปแบบการใช้จากผลงานที่ผ่านการประเมินคุณภาพมาแล้วประกอบด้วย)
จากที่นำเสนอหวังว่าจะช่วยให้เพื่อนครูมองเห็นแนวทางในการพัฒนางานนะครับ
ขอเป็นกำลังใจ ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่รู้
บางเรื่องที่เรายังไม่รู้ก็ต้องขวนขวายเพื่อให้รู้
ผู้เขียนเองก็ได้ความรู้จากการถามมาไม่น้อยไปกว่าการอ่าน(ยังมีอีกหลายหลายเรื่องที่ยังไม่รู้)
แล้วพบกันใหม่นะครับ
หน้าที่ 2 ::: หน้าที่ 3 ::: หน้าที่ 4 ::: หน้า 5